เรียนผู้ใช้งานระบบ หากท่านพบปัญหาหรือติดปัญหา ในการใช้งานระบบ
ท่านสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ ผ่านช่องทาง Line Official Account ได้ดังนี้
หลักสูตร “การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื้อหาภายในหลักสูตรประกอบด้วยรายวิชาว่าด้วยการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่สำคัญในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มีจำนวน 10 รายวิชา มีแบบทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนทุกรายวิชา (ผู้อบรมต้องผ่านการทดสอบและได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80) ผู้ที่ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตร
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ที่ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านระบบออนไลน์
กลุ่มเป้าหมาย
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข[1] ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะอบรมตามหลักสูตร
เจ้าพนักงานสาธารณสุข
เกณฑ์การวัดและประเมินผลในรายวิชา
มีการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียน (Course Progress) มากกว่า 80% ขึ้นไป และผ่านการประเมินผลแบบทดสอบหลังเรียน (Post test) ทั้งนี้ผู้เรียนต้องทำคะแนนรวมทั้งหมดให้ได้ร้อยละ 80 ขึ้นไป จึงจะสามารถขอรับ Certificate of Completion ได้[1] เจ้าพนักงานสาธารณสุข ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2562
จันท์จิรา ตรีสิทธิมากุล | |
นางสาวฐาปนี ชูเชิด | |
วิมลศิริ วิเศษสมบัติ |
เพื่ออธิบายวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมายที่อบรม กรอบเนื้อหาของหลักสูตร และเกณฑ์การวัดและประเมินผลภายหลังการเรียนรู้
วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมายที่อบรม กรอบเนื้อหาของหลักสูตร และเกณฑ์การวัดและประเมินผลภายหลังการเรียนรู้
ศึกษาคำแนะนำหลักสูตร การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการและความสำคัญของระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในสังคม
2. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการพื้นฐานในการกระจายอำนาจของรัฐส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และความสัมพันธ์ระหว่างกลไกภาครัฐ
3. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาทอำนาจหน้าที่ และระบบการบริหารจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่นตามกฎหมายการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานของระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อม แนวคิดพื้นฐานในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ บทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการงานอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 4 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 33 นาที
ส่วนที่ 1 ระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน
ส่วนที่ 2 หลักการพื้นฐานในการกระจายอำนาจของรัฐส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และความสัมพันธ์ระหว่างกลไกภาครัฐส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนที่ 3 บทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่ 4 บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นตามกฎหมายการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และการบังคับใช้ สามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรายวิชานี้ท่านจะได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ และความจำเป็นของกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้านการอนามัยสิ่งแวดล้อม หลักการ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 สารบัญญัติและแนวทางปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วยสารบัญญัติในหมวดที่ 3 ถึงหมวดที่ 9 และกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละหมวด การพิจารณาออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และค่าธรรมเนียม รวมทั้งมาตรการการควบคุมและบทลงโทษ และการยกตัวอย่างประกอบการเรียนรู้ในแต่ละเรื่อง
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 55 นาที
ส่วนที่ 1 หลักการ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
ส่วนที่ 2 สารบัญญัติและแนวทางปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนที่ 3 การออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และค่าธรรมเนียม
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการสุขาภิบาลอาหาร
2. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานการจัดการสุขาภิบาลอาหาร
3. เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การจัดการสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งเป็นการจัดบริการขั้นพื้นฐานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการกำกับ ควบคุม ดูแลให้สถานประกอบการด้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาศัยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในการปฏิบัติ ซึ่งรายวิชานี้ประกอบด้วยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสุขาภิบาลอาหาร ได้แก่ หลักการและมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร ของสถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาด และการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ (อาหารริมบาทวิถี) และหลักการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 2 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 20 นาที
ส่วนที่ 1 หลักการและมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร
- หลักการสุขาภิบาลอาหาร
- บทบาทตามกฎหมายของงานสุขาภิบาลอาหาร
- การขับเคลื่อนงานสุขาภิบาลอาหาร
ส่วนที่ 2 การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร
- สถานที่จำหน่ายอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561
- สถานที่สะสมอาหาร
- ตลาด
- การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ (อาหารริมบาทวิถี)
- กิจการอื่น ๆ เช่น Delivery Food Truck
1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้
2. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้
3. เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้และเทคนิคจากบทเรียนประยุกต์ใช้ในการทำงานได้
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิชาการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำซึ่งเป็นสาระสำคัญขั้นพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ในพื้นที่ ซึ่งรายวิชานี้ประกอบด้วยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำ บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ เครื่องมือและแนวทางสำคัญในการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดหรือภัยพิบัติ
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 4 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 36 นาที
ส่วนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำ
- นิยามศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับน้ำ
- น้ำ สำคัญอย่างไร
- ประเภทของน้ำดื่มน้ำใช้ของประเทศไทยในปัจจุบัน
- สถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือน
- โรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อและผลกระทบต่อสุขภาพ
ส่วนที่ 2 บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้
- บทบาทตามกฎหมาย
- บทบาทที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ส่วนที่ 3 เครื่องมือและแนวทางสำคัญในการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้
- ความรู้พื้นฐานการสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้
- เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่; EHA WSP
- การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ (ด้วยชุดทดสอบ การส่งตัวอย่างน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ)
- เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้กรมอนามัย พ.ศ. 2553
ส่วนที่ 4 การเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินโรคระบาดหรือภัยพิบัติ
- การจัดทำแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างง่าย
- การควบคุมคุณภาพน้ำหรือตรวจสอบคุณภาพน้ำในภาวะฉุกเฉิน
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามและความหมายของมูลฝอย แหล่งกำเนิดมูลฝอยชุมชน ผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดการมูลฝอย และแนวทางจัดการมูลฝอยอย่างยั่งยืน
2. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอธิบายปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมูลฝอย และสามารถกำหนดแนวทางการจัดการมูลฝอยของชุมชนได้อย่างเหมาะสม
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้ทราบแนวคิดการจัดการมูลฝอยชุมชนทั้งการจัดการมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยอันตราย ปัจจัยส่งผลต่อปริมาณและชนิดมูลฝอย แหล่งกำเนิดมูลฝอยปัญหาและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการจัดการมูลฝอย เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดมาตรการจัดการมูลฝอย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกำจัดการมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 40 นาที
ส่วนที่ 1 นิยามและความหมายของมูลฝอย
ส่วนที่ 2 แหล่งกำเนิดมูลฝอยชุมชนและผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่ 3 กระบวนการจัดการมูลฝอยและแนวทางการจัดการมูลฝอยอย่างยั่งยืน
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอธิบายมลพิษ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการจัดการสิ่งปฏิกูลที่ไม่เหมาะสม และสามารถประยุกต์ใช้ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลได้อย่างเหมาะสมกับชุมชน
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้ทราบความสำคัญและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูล ประเภทของส้วมชนิดใช้น้ำ ไม่ใช้น้ำ ที่ และแนวทางการบำบัดสิ่งปฏิกูลที่เหมาะสมกับชุมชน
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 40 นาที
ส่วนที่ 1 นิยามของสิ่งปฏิกูลและระบบการจัดการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 2 คุณสมบัติของสิ่งปฏิกูลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ส่วนที่ 3 ส้วมและระบบการจัดการสิ่งปฏิกูล
เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเหตุรำคาญและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ หลักการ กรอบแนวคิด ขอบเขตและความจำเป็นในการจัดการเหตุรำคาญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพและสิทธิของประชาชนด้านการอนามัยสิ่งแวดล้อม กระบวนการการจัดการเหตุรำคาญตามมาตรฐานการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการเหตุรำคาญ (EHA 6000) ทั้งด้านกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและด้านวิชาการการอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การมอบหมายผู้รับผิดชอบ การรับเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบข้อเท็จจริง การจัดทำผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ การออกคำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญ การออกคำสั่งทางปกครอง การเปรียบเทียบปรับและการดำเนินคดี การยุติเหตุรำคาญ การจัดทำฐานข้อมูลเหตุรำคาญ การเฝ้าระวังและการป้องกันเหตุรำคาญ เป็นต้น หลักการ กรอบแนวคิด ขอบเขตและความจำเป็นในการจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพและสิทธิของประชาชนด้านการอนามัยสิ่งแวดล้อม กระบวนการการจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาตรฐานการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (EHA 7000) ทั้งด้านกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและด้านวิชาการการอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น การออกใบอนุญาต การจัดทำฐานข้อมูล การเฝ้าระวังและการควบคุมกำกับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 44 นาที
ส่วนที่ 1 หลักการ กรอบแนวคิด ขอบเขตและความจำเป็นในการจัดการเหตุรำคาญและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ส่วนที่ 2 การจัดการเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
ส่วนที่ 3 การจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถเชื่อมโยงแนวคิด และนำไปใช้ในกับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้แนวคิด หลักการของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักการสำคัญคือ คือ การมีข้อมูลหลักฐานเชิงวิชาการที่สามารถระบุผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วนำไปสู่การกำหนดมาตรการหรือวิธีการป้องกันแก้ไข โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น หลักการดังกล่าวสามารถใช้ได้กับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมทุกเรื่อง เช่น การจัดการมูลฝอย สิ่งปฏิกูล การจัดการผลกระทบจากการประกอบกิจการ การพัฒนาสวนสาธารณะ การสร้างตลาด การก่อสร้างถนน ฯลฯ ประกอบกับกรมอนามัยส่งเสริมและสนับสนุนระบบการประเมินคุณภาพระบบบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Environmental Health Accreditation หรือ EHA ประกอบด้วยกระบวนงานจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม 9 ระบบคือ EHA1000-9000) ซึ่งการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Heath Impact Assessment : HIA) อยู่ในกระบวนงาน EHA8000 ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแล้ว EHA8000 ยังเป็นกระบวนงานที่สนับสนุนและเพิ่มคุณค่าให้กระบวนงาน EHA ระบบอื่นๆ เช่น การจัดการคุณภาพน้ำบริโภค การจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การจัดการเหตุรำคาญ การออกข้อกำหนดท้องถิ่น เป็นต้น และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งสำหรับนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสุขภาพ รวมทั้งนโยบายสาธารณะด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 29 นาที
ส่วนที่ 1 ความหมาย แนวคิด และหลักการของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ HIA
ส่วนที่ 2 กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
ส่วนที่ 3 แนวทางการประยุกต์ใช้กับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและกรณีศึกษา
1. เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังอนามัยสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขาภิบาลในชุมชน และเสริมสร้างสุขอนามัยให้กับประชาชนในพื้นที่
2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการใช้ชุดตรวจสอบทางภาคสนามอย่างง่าย เพื่อการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขอนามัยของบุคคล
3. เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน ชุมชน และประชาชน ในการใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายทางภาคสนามร่วมตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภค ส่งเสริมสุขาภิบาลชุมชน สุขาภิบาลอาหาร ร่วมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้แนวคิด หลักการของแนวทางขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักการสำคัญคือ คือ การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและงานอนามัยสิ่งแวดล้อม จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดได้ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเข้าใจ อย่างถูกต้องจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน การพัฒนามาตรการที่ได้ผลในการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และการใช้แนวทางสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ที่มุ่งเน้นการพัฒนางานสาธารณสุขเพื่อบรรลุเป้าหมาย ให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เป็นพื้นฐานในการบูรณาการทุกภาคส่วนสร้างกระบวนการเรียนรู้สู่วิถีชุมชน โดยดึงเอาพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชนในพื้นที่ทุกระดับจากชุมชนสู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการภายใต้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและทำงานอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อพัฒนากระบวนการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน รับรู้ปัญหา เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ บทบาทหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญ คือ การปรับปรุงพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน ทั้งด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลชุมชน สุขาภิบาลอาหารและน้ำ และสุขอนามัยของประชาชนรับความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่น องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการสร้างทีมนำในการผลักดันและพัฒนาองค์กรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเฝ้าระวังอนามัยสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขาภิบาลและเสริมสร้างสุขอนามัยในการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพเพื่อเป้าหมายการพัฒนา เมืองน่าอยู่
ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในการตรวจ วัด วิเคราะห์และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ รวมระยะเวลาประมาณ 24 นาที
เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องการ สร้างเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดไปใช้ในกับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้
สำหรับรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้แนวคิด หลักการของแนวทางขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักการสำคัญคือ คือ แนวทางขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ 3 หัวข้อสำคัญ รวมระยะเวลาประมาณ 48 นาที
ส่วนที่ 1 ความหมาย แนวคิด และหลักการของการทำงานแบบเครือข่าย
ส่วนที่ 2 องค์ประกอบ ขั้นตอนของการสร้างเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนที่ 3 การประยุกต์ใช้เครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและกรณีศึกษา
เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนต่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์
ความพึงพอใจต่อระบบการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์
ทำแบบประเมินความพึงพอใจ โดยไม่กำหนดเวลา